วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประวัติของรัชกาลที่ ๘
พระมหากษัตริย์ไทย

                                
พระราชประวัติ
   พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ พระอัฐมรามาธิบดินทร (20 กันยายน พ.ศ. 2468 - 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489) พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ทรงเป็นพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (ภายหลังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (ภายหลังดำรงพระยศเป็น "สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี") ทรงมีพระพี่นางและพระเจ้าน้องยาเธอร่วมพระชนกชนนีอีก 2 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (ภายหลังทรงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช)
   พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 8 แห่งราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะที่มีพระชนมายุเพียง 8 พรรษาและประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้น จึงมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ
   พระองค์เสด็จนิวัติพระนครครั้งแรกภายหลังทรงราชย์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ระหว่างกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี
พระราชลัญจกรประจำพระองค์

   พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 8ในปี พ.ศ. 2481 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ให้สำนักพระราชวังจัดสร้างพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้น ซึ่งเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี สมุหพระราชวัง ได้ปรับปรุงพระราชลัญจกรรูปพระโพธิสัตว์สวนดุสิต ที่เคยใช้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาใช้เป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ โดยการสร้างพระราชลัญจกรนั้น ใช้แนวคิดจากพระบรมนามาภิไธยก่อนทรงราชย์ นั่นคือ "อานันทมหิดล" ซึ่งหมายถึง เป็นที่ยินดีแก่แผ่นดิน ดังนั้น จึงได้ใช้รูปพระโพธิสัตว์ ซึ่งมีหมายความเดียวกันว่า เป็นความยินดีและเป็นเดชยิ่งในพื้นพิภพ มาเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์
   พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 8 นั้น เป็นตรางา ลักษณะกลมศูนย์กลางกว้าง 7 เซนติเมตร มีรูปพระโพธิสัตว์ประทับอยู่เหนือบัลลังก์ดอกบัว พระบาทขวาห้อยอยู่เหนือบัวบาน ซึ่งหมายถึง แผ่นดิน พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูม มีเรือนแก้วอยู่ด้านหลังแถบรัศมี ซึ่งมีข้อแตกต่างจากพระราชลัญจกรที่ใช้ในรัชกาลที่ 5 คือ มีการเพิ่มรูปฉัตรตั้งไว้ข้างแท่นที่ประทับของพระโพธิสัตว์
พระราชประวัติ ขณะทรงพระเยาว์
   พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงเป็นพระโอรสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ซึ่งสมเด็จพระราชบิดาทรงศึกษาวิชาการทหารเรืออยู่ที่ประเทศเยอรมัน โดยได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า หม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันมหิดล  สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า นันท
   พระองค์ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ สมเด็จพระอนุชา 1 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
     เมื่อทรงพระเยาว์ได้ตามเสด็จสมเด็จพระราชบิดาและสมเด็จพระราชชนนีไปยังประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งสมเด็จพระราชบิดาทรงเข้าศึกษาวิชาแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา ในระหว่างปี พ.ศ. 2469 - 2471 แล้วจึงเสด็จกลับประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อพระชนมายุได้ 3 พรรษา ประทับ ณ วังสระปทุม ในระหว่างนั้นสมเด็จพระราชบิดาทรงพระประชวรและเสด็จทิวงคต ดังนั้น พระองค์จึงอยู่ในความดูแลของสมเด็จพระราชชนนีเพียงพระองค์เดียว
   พระองค์ทรงเริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี และเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ หลังจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 นั้น สมเด็จพระราชชนนีได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการที่จะทรงนำพระโอรส และพระธิดาไปประทับที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยพระองค์ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมีเรมองต์ ต่อมาย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนนูแวลเดอลา ซูวิสโรมองต์ และ ทรงศึกษาภาษาไทย ณ ที่ประทับ โดยมีพระอาจารย์ตามเสด็จไปจากกรุงเทพ[6]
 การขึ้นทรงราชย์
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อยังทรงพระเยาว์วันที่ 2 มีนาคม
พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ และมิได้ทรงสมมติเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นรัชทายาท ดังนั้น คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันมหิดลซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ขึ้นทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 โดยได้รับการเฉลิมพระนามเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2477 ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล[8][9]
   ในขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุ 8 พรรษา และยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อบริหารราชการแผ่นดินแทนจนกว่าจะทรงบรรลุนิติภาวะ ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)
   เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2478 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์สิ้นพระชนม์ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้แต่งตั้งให้นายพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเมื่อเจ้าพระยายมราช
(ปั้น สุขุม) ถึงแก่อสัญญกรรม จึงมีการแต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทน หลังจากนั้น เมื่อเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) ถึงแก่อสัญญกรรม รวมทั้ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง นายปรีดี พนมยงค์ จึงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงผู้เดียว จนกว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกลับสู่พระนคร

การเสด็จนิวัติพระนคร
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงฉายที่พระตำหนักวิลล่าวัฒนา สวิสเซอร์แลนด์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2รัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติพระนคร เมื่อปลายปี พ.ศ. 2477 เพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่เนื่องจากพระพลานามัยของพระองค์ไม่สมบูรณ์จึงได้เลื่อนกำหนดออกไปก่อน และได้กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จฯ อีกครั้งในปี พ.ศ. 2478 แต่ก็ทรงติดขัดเรื่องพระพลานามัยอีกเช่นกัน หลังจากนั้น รัฐบาลได้ส่งพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์) ไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนนีที่โลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติพระนครอีกครั้งในปี พ.ศ. 2479 อย่างไรก็ตาม ในระหว่างเตรียมการเสด็จนิวัติพระนครนั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ คณะรัฐบาลใหม่จึงขอเลื่อนการรับเสด็จออกไปอย่างไม่มีกำหนด
   หลังจากนั้น รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จนิวัติพระนครอีกครั้ง ในครั้งนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เสด็จพระราชดำเนินจากเมืองโลซานน์ที่ประทับโดยทางรถไฟมายังเมืองมาเชลล์ เพื่อประทับเรือเมโอเนีย ในการเสด็จพระราชดำเนินกลับสู่ประเทศไทย และเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 เรือพระที่นั่งได้เทียบจอดทอดสมอที่เกาะสีชัง รัฐบาลได้จัดเรือหลวงศรีอยุธยาออกไปรับเสด็จมายังจังหวัดสมุทรปราการ ณ ที่นั้น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จไปคอยรับพระราชนัดดาและพระสุนิสาด้วย หลังจากนั้น จึงได้เสด็จโดยเรือหลวงศรีอยุธยาเข้าสู่กรุงเทพมหานคร และประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งนับเป็นการเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นครั้งแรกหลังจากเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ทรงใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์  
   เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง พระองค์จึงเสด็จนิวัติพระนครอีกครั้ง พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งการเสด็จนิวัติประเทศในครั้งนี้ ทางราชการได้จัดพระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ และเนื่องจากพระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงสามารถบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอีกต่อไป[14]
  สวรรคต

   พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลดูบทความหลักที่ เหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงตั้งพระทัยจะทรงศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์จนเรียบร้อยแล้วจึงจะเสด็จนิวัติพระนครเป็นการถาวรและทรงเข้ารับการบรมราชาภิเษกในภายหลัง แต่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อนในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ด้วยสาเหตุทรงต้องพระแสงปืน ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน
   หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง และจัดให้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคม พ.ศ. 2493 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง วันรุ่งขึ้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินเก็บพระบรมอัฐิ และอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิประดิษฐานที่บุษบงเหนือพระแท่นแว่นฟ้าทองภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มุขตะวันตก และจัดให้มีการพระราชกุศลพระบรมอัฐิขึ้น หลังจากนั้น ได้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานชั้นบน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
   วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ไปยังวัดสุทัศน์เทพวราราม และอัญเชิญพระบรมราชสริรางคารบรรจุลงในหีบ พร้อมทั้งเคลื่อนหีบพระบรมราชสรีรางคารเข้าสู่พระพุทธบัลลังก์ พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม

 การเฉลิมพระปรมาภิไธย

   เนื่องจากสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ไม่ได้ทรงประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี ดังนั้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระบรมขัติยราชอิสสริยยศ รวมทั้ง ยังได้ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์บางองค์ เช่น นพปฎลเศวตฉัตร ซึ่งใช้ในการกางกั้นพระบรมศพและพระบรมอัฐิ จึงได้มีการประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลขึ้นเป็น "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมล รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราช" โดยประกาศเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2489
   หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ในวโรกาสพระราชพิธีฉลองทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถวายเพิ่มพระนามพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เป็นพระปรมาภิไธยอันวิเศษตามแบบแผนโบราณราชประเพณีว่า
   "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จุฬาลงกรณราชปรียวรนัดดา มหิตลานเรศวรางกูร ไอศูรยสันตติวงศวิสุทธ์ วรุตมขัตติยศักตอรรคอุดม จักรีบรมราชวงศนิวิฐ ทศพิธราชธรรมอุกฤษฎนิบุณ อดุลยกฤษฎาภินิหารรังสฤษฎ์ สุสาธิตบูรพาธิการ ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ ธัญอรรคลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมงคประณตบาทบงกชยุคล อเนกนิกรชนสโมสรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สรรพรัฐทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตน สรณารักษ์วิศิษฎศักตอัครนเรศรามาธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร"
   นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขานพระปรมาภิไธยอย่างมัธยมว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สกลไพศาล มหารัษฎธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร" และอย่างสังเขปว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร"


พระมหากษัตริย์ไทย
                    
พระราชประวัติ
         วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ ตรงกับวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีเถาะ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช พระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ และหม่อมสังวาลย์ ประสูติ ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาซูเสตต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เหตุที่ประสูติที่อเมริกา เพราะขณะนั้น พระบรมราชชนก เสด็จทรงศึกษาและปฏิบัติหน้าที่ราชการในต่างประเทศ ทรงมีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

            
พระนาม “ ภูมิพลอดุลยเดช ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ มีความหมายว่า “ ผู้ทรงกำลังอำนาจไม่มีอะไรเทียบในแผ่นดิน ”
 ตราประจำรัชกาลที่ ๙             หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงประกาศสละราชสมบัติเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้กราบทูลเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งเป็นพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๘ แห่งราชจักรีวงศ์ จากนั้นในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๗๘ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช ทรงได้รับเฉลิมพระนามเป็น “ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ” ในครั้งนั้นทั้งสองพระองค์ยังประทับอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

 
       ในปี ๒๔๘๐ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช สายพระเนตรสั้นลง เป็นเหตุให้ต้องทรงฉลองพระเนตรนับตั้งแต่นั้นมา

         
 ในปี ๒๔๘๘ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง รัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งขณะนั้นทรงพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา เสด็จกลับมาประทับเป็นมิ่งขวัญของประชาชนชาวไทย ในการเสด็จนิวัตสู่ประเทศไทยครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะพระเจ้าน้องยาเธอฯ ได้เสด็จกลับมาด้วย โดยได้เสด็จถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ อันตรงกับวันพระราชสมภพ ขณะมีพระชนมายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์

          
 ใน วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ ประชาชนชาวไทยต้องประสบกับความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต อย่างกระทันหันด้วยพระแสงปืน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง และในวันเดียวกันนี้เอง พระบรมวงศานุวงศ์และคณะ   รัฐมนตรีก็ได้กราบบังคมทูล อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็น พระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และได้มีการประกาศเฉลิมพระนามว่า “ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ” แต่เนื่องจากในขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๙ พรรษา ยังไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองได้ อีกทั้งยังมีพระราชภารกิจเรื่องการศึกษา จึงได้มีการแต่งตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระยามานวรราชเสวี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

          
  วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๘๙ ได้เสด็จกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์พร้อมสมเด็จพระราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธออีกครั้ง โดยก่อนจากประเทศไทยในครั้งนั้น ได้ทรงเสด็จไปถวายบังคมลาพระบรมศพพระบรมเชษฐาธิราชที่พระบรมมหาราชวัง ขณะที่ประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังสนามบินดอนเมือง ได้มีประชาชนคนหนึ่งตะโกนว่า “ อย่าละทิ้งประชาชน ” ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงมีพระราชนิพนธ์เรื่อง “ เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์ ” ว่าทรงอยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า “ ถ้าประชาชนไม่ “ ทิ้ง ” ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ “ ละทิ้ง ” อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว ..”

          
 เมื่อเสด็จกลับไปยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพื่อศึกษาต่อ ก็ได้ทรงเปลี่ยนจากสาขาวิทยาศาสตร์ มาทรงศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ และนิติศาสตร์ เพื่อเตรียมพระองค์ในการเป็นพระประมุขของประเทศ

       
  ในปี ๒๔๙๓ เมื่อเสด็จนิวัตกลับประเทศไทยแล้ว ได้ทรงกำหนดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลตั้งแต่วันที่ ๑๘ มีนาคม จนถึงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๔๙๓ อันเป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ

          
 หลังจากนั้นใน วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯก็ได้ทรงจัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ซึ่งพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งนี้ นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกสำหรับพระมหากษัตริย์ไทยในยุคประชาธิปไตย ที่ได้ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่นเดียวกับปวงชนชาวไทย

          
 ในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ได้ทรงจัด พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองแผ่นดินอย่างสมบูรณ์ โดยมีพระปรมาภิไธยว่า “ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ” ซึ่งในครั้งนั้นได้ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ” พร้อมกันนี้ได้ทรงสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พระอัครมเหสี ขึ้นเป็น “ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ”

       
  ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงผนวช ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช (หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์) วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเป็นพระราชอุปชฌาย์ และสมเด็จพระสังฆราชได้ถวายพระสมณฉายานามว่า “ ภูมิพโล ภิกขุ ” ทรงประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงอยู่ในเพศบรรพชิตอยู่ ๑๕ วันจึงลาผนวชเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ ในระหว่างทรงผนวช ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ซึ่งทรงปฏิบัติราชกรณียกิจในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อย่างเรียบร้อยเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี นาถ ในปีเดียวกันนี้เอง

       
  ในปี ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้ เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรัชกาล โดยเริ่มจากประเทศสาธารณรัฐเวียดนาม อินโดนีเซีย และสหภาพพม่า และในปี ๒๕๐๓ ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในทวีปยุโรป รวม ๑๔ ประเทศ ตั้งแต่วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๐๓-วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๐๔ ซึ่งในการเสด็จฯเยือนต่างประเทศครั้งนั้น นอกจากจะช่วยกระชับความสัมพันธ์กับมิตรประเทศแล้ว ทั้งสองพระองค์ยังได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจจนบังเกิดผลสำเร็จ นำผลประโยชน์มาสู่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยมากมาย ทรงเป็นที่กล่าวขานถึงพระบารมีเลืองลือขจรไกล

          
  ในปี ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมายุเสมอด้วยสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จึงทรงโปรดเกล้าฯให้มีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวโรกาสมหามงคลข้างต้นตามโบราณราชประเพณี ที่นิยมเฉลิมฉลองวโรกาสที่พระเจ้าอยู่หัวฯทรงเจริญพระชนมายุเสมอด้วยสมเด็จพระบรมราชบุรพการี

          
    ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๑๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงกระทำ “ พระราชพิธีรัชดาภิเษก ” อันเป็นพิธีเฉลิม ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี และในปี ๒๕๒๐ คณะบุคคลอันประกอบด้วยประชาชนทุกสาขาอาชีพ ได้พร้อมกันแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการน้อมเกล้าฯถวายพระราชสมัญญา “ มหาราช ” พร้อมจัดงานถวายพระพรและเฉลิมพระเกียรติในวันเฉลิมพระชนมพรรษา โดยใช้ชื่อว่า “ ๕ ธันวามหาราช ” ต่อมาเพื่อความพร้อมเพรียงในหมู่พสกนิกรชาวไทยในอันที่จะถวายพระราชสมัญญา “ มหาราช ” จึงได้มีการสำรวจประชามติทั่วประเทศ ปรากฎว่าประชาชนมีความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถวายพระราชสมัญญา “ มหาราช ” เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐

          
  วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “ อัครศิลปิน ” แด่พระองค์ ด้วยทรงเป็นเลิศในศิลปะหลายสาขา อาทิ ดุริยางคศิลป์ ทัศนศิลป์ และนฤมิตศิลป์ เป็นต้น คำว่า “ อัครศิลปิน ” หมายถึง ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ หรือผู้เป็นใหญ่ในศิลปินก็ได้ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากจะทรงเป็นเลิศในศิลปะทั้งปวงแล้ว ยังทรงมีคุณูปการได้ทรงอุปถัมภ์แก่ศิลปินทั้งหลายด้วย

          
  วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๑ ได้มีการจัด “ ราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ” อันเป็นพระราชพิธีเฉลิมฉลองเนื่องใน อภิลักษขิตสมัยที่ทรงครองราชสมบัติยาวนานกว่าสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าแห่งราชอาณาจักรไทยทุกพระองค์ในอดีต ซึ่งเป็นมหามงคลวโรกาสที่หาได้ยากยิ่ง คือ ทรงครองราชย์สมบัติเป็นเวลา ๔๒ ปี ๒๒ วัน ซึ่งเป็นเวลาจำนวนปีและวันเท่ากับสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอัยยิกาธิราช

          
 วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ เป็นวันที่ ทรงครองราชย์สมบัติครบ ๕๐ ปี รัฐบาลได้จัดงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่เพื่อถวายเป็นราชสักการะและถวายพระพรชัยมงคล พระองค์ได้โปรดเกล้าฯพระราชทานชื่องานว่า “ พระราชพิธีกาญจนาภิเษก ” นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษอีกวาระหนึ่งที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย

          
  วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ได้มีงาน “ พระราชพิธีสมมงคล พระชนมายุ ๗๓พรรษา เท่ากับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ” ( สมมงคล อ่านว่า สะ-มะ-มง-คล)คือวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระชนมายุได้ ๒๖,๔๖๙ วัน เท่ากับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑

          
  วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ ปีนี้ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ได้ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่องานว่า “ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ” ซึ่งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งพสกนิกรชาวไทยต่างร่วมใจกันจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อถวายเป็นราชสักการะ และร่วมเฉลิมฉลองวโรกาสมหามงคลครั้งนี้ทั่วประเทศ ที่สำคัญคือจะมีประมุขและพระบรมวงศานุวงศ์จากมิตรประเทศมาร่วมถวายพระพรด้วย และใน วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา ซึ่งได้โปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อมาแล้วว่า “ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ”ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น คือเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช “ ในหลวง ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ” ซึ่งตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ นับตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ตราบจนปัจจุบัน เป็นเวลา ๖๐ ปีเต็ม จนกล่าวได้ว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก ได้ทรงอุทิศพระวรกาย พระราชหฤทัย และพระสติปัญญาบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งปวงเพื่ออาณาประชาราษฎร์ของพระองค์อย่างมากมายมหาศาลตลอดมา จนยากยิ่งที่จะหาพระมหากษัตริย์พระองค์ใด หรือประมุขของประเทศใดในโลกมาเทียบเคียงได้ ดังนั้น ในโอกาสมหามงคลสมัยนี้ จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทั้งในและนอกประเทศได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ด้วยการตั้งใจ “ ทำความดี ” และ “ รู้รักสามัคคี ” ถวายเป็นพระราชสักการะ ให้สมกับที่พวกเราได้มีบุญเกิดบนผืนแผ่นดินไทย ที่มี “ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ” เป็นพระประมุขของชาติ 

     
 
ขอขอบคุณ  คุณอมรรัตน์  เทพกำปนาท  
 
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นที่มาของบทความ  
         "พระแท่นอัฏทิศ อุทุมพรราชอาสน์" เป็นตรางา ลักษณะรูปไข่ กว้าง ๕ ซ.ม. สูง ๖.๗ ซ.ม.
รูปพระที่นั่งอัฎทิศ ประกอบด้วยวงจักร  กลางวงจักรมีอักขระ "อุ" รอบๆ มีรัศมี
(วันบรมราชาภิเษกได้เสด็จได้เสด็จประทับที่นั่งอัฎทิศ)
แปลความหมายว่า ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน
ตราพระราชลัญจกรนี้ สร้างขึ้นเมื่อวันบรมราชาภิเษก สำหรับใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธย ในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ ไม่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น